อาคารชนิดใดบ้าง จะต้องขออนุญาต ก่อนรื้อถอน

พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ แก้ไขโดย พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๒๒ บัญญัติไว้ว่า:- ผู้ใดจะรื้อถอนอาคารดังต่อไปนี้ ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามมาตรา ๓๙ ทวิ

(๑) อาคารที่มีส่วนสูงเกินสิบห้าเมตร ซึ่งอยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะน้อยกว่าความสูงของอาคาร

(๒) อาคารที่อยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะน้อยกว่าสองเมตร

พิจารณาจากวรรคหนึ่งแยกองค์ประกอบได้ ดังนี้ :-

  1. ผู้ใด
  2. จะรื้อถอนอาคารดังต่อไปนี้
  3. ต้องได้รับใบอนุญาต
  4. จากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
  5. หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
  6. และดำเนินการตามมาตรา ๓๙ ทวิ

ดูต่อมาที่ (๑) จะแยกองค์ประกอบได้ ดังนี้:-

  1.  อาคาร
  2. ที่มีส่วนสูง
  3. เกินสิบห้าเมตร
  4. ซึ่งอยู่ห่างจากอาคารอื่น
  5. หรือที่สาธารณะ
  6. น้อยกว่าความสูงของอาคาร

และสุดท้ายใน (๒) จะแยกองค์ประกอบได้ ดังนี้:-

  1. อาคาร
  2. ที่อยู่ห่าง
  3. จากอาคารอื่น
  4. หรือที่สาธารณะ
  5. น้อยกว่าสองเมตร 

จะเห็นได้ว่า เมื่อพิจารณาจากวรรคหนึ่ง การรื้อถอนอาคารจะทำได้ในสองแนวทาง คือ:-

  • แนวทางที่๑ ขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
  • แนวทางที่๒ ไม่ต้องขออนุญาต แต่แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วดำเนินการตามมาตรา ๓๙ ทวิ

เมื่อพิจารณาต่อมาใน (๑)และ(๒) ซึ่ง จะกล่าวถึงลักษณะของอาคาร ที่ต้องขอหรือแจ้ง ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ทั้งนี้ เมื่ออ่านบทบัญญัติจากทั้งสองวงเล็บ ย่อมเห็นได้ว่า กฎหมายแบ่งอาคารออกเป็น ๒ กรณี คือ:- 

  • กรณีที่ ๑ อาคารที่ส่วนสูงเกิน ๑๕ เมตร
  • กรณีที่ ๒ อาคารโดยทั่วไป

เราวิเคราะห์อะไร ออกมาจากบทบัญญัติของกฎหมายได้บ้าง ตามสายตาของสถาปนิกอย่างกระผม วิเคราะห์ ออกมาได้ ดังนี้:-

กรณีอาคารโดยทั่วไป หากอยู่ห่างจากอาคารอื่น หรือที่สาธารณะ น้อยกว่า ๒ เมตร เมื่อจะทำการรื้อถอนอาคาร ก็ต้องขอหรือแจ้ง เจ้าพนักงานท้องถิ่น แต่ถ้าห่างตั้งแต่ ๒ เมตรขึ้นไป เช่น ห่าง ๒ เมตร ๓ เมตร ๔ เมตร…. ก็ไม่ต้องขอหรือแจ้ง ส่วนกรณี ถ้าเป็นอาคารประเภทที่สูงเกิน ๑๕ เมตร นั้น ระยะห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะ ๑ เมตร ๒ เมตร ๓ เมตร ๔ เมตร… จนถึงระยะน้อยกว่าความสูงอาคารที่จะรื้อถอน ก็ต้องขอหรือแจ้ง ต่อเมื่อระยะห่างเท่ากับหรือมากกว่าความสูงอาคาร เมื่อใด จึงจะไม่ต้องขอหรือแจ้งรื้อถอนอาคาร

อาคารอื่น ในที่นี้ ย่อมเป็นอาคารทุกประเภทตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ซึ่ง บัญญัตินิยามไว้ในมาตรา ๔ โดยต้องดูกฎกระทรวง กำหนดสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเป็นอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๔๔ ที่ออกโดยอาศัยมาตรา ๔ ประกอบด้วย เช่น สระว่ายน้ำภายนอกอาคารที่มีความจุ ๑๐๐ ลูกบาศก์เมตร ก็เป็นอาคารแล้ว หรือ รั้ว กำแพง ประตู ที่สร้างติดกับที่สาธารณะ แม้กระทั่งที่จอดรถ ป้าย ที่มิใช่อาคารโดยสภาพ ก็ล้วนเป็นอาคารอื่น ตามบทบัญญัตินี้ด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งนี้ ที่สาธารณะ ก็โปรดอย่าเข้าใจว่า คือ เฉพาะทางสาธารณะ เท่านั้น เพราะ ไม่ว่าจะเป็น สวนสาธารณะ วัดวาอาราม สถานที่ราชการ ฯลฯ ก็ล้วนเป็นที่สาธารณะตามความหมายของบทบัญญัตินี้ทุกประการ

 

ที่มา http://www.oknation.net/